กรุงเทพฯ 7 มกราคม 2559 – ไอวีแอลลงนามข้อตกลงเข้าซื้อกิจการของบริษัท BP Chemical ในเมือง Decatur รัฐ Alabama ประกอบด้วยโรงงานผลิตแบบครบวงจรเคมีภัณฑ์พาราไซลีนและ PTA (กำลังการผลิตราว 1.8 ล้านตันต่อปี) รวมทั้งเคมีภัณฑ์ NDC ในเชิงพาณิชย์แห่งเดียวในโลก โดย NDC เป็นเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่ใช้ในการผลิตโพลิเมอร์เฉพาะทางและฟิล์มสำหรับการใช้งานอาทิหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เป็นต้น บริษัทฯ คาดว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2559ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการอนุมัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายอาลก โลเฮียกล่าวว่าปี 2558 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของไอวีแอลและการเข้าซื้อกิจการที่ได้ลงนามไปแล้วนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของเราเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และไอวีแอลพลิกช่วงเวลานี้ให้เป็นโอกาสด้วยการมุ่งมั่นและรักษาเป้าหมายที่ชัดเจนในการลงทุนในกิจการที่มีจุดเด่น น่าสนใจและสร้างความแตกต่าง ส่งผลให้ไอวีแอลมีความได้เปรียบทั้งในด้านขนาด กรรมสิทธิ์ในการถือครองเทคโนโลยีและสินค้านวัตกรรมที่ลูกค้าของเราสามารถพึ่งพาได้

ไอวีแอลได้ดำเนินการตามแผนที่ได้ประกาศไว้ในงานประชุมนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทางการเงินซึ่งได้ย้ำเน้นอีกครั้งในการประชุมเพื่อทบทวนยุทธ์ศาสตร์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่จะบรรลุเป้า EBITDA Margins เป็นตัวเลขสองหลักและ Core EBITDA เติบโตเป็นสองเท่าในปี 2561 จากปี 2557 ซึ่งมี EBITDA อยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไอวีแอลมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าการเติบโตของ Core EPS เป็น 4 เท่าภายในปี 2561 จากปี 2557 การเข้าซื้อกิจการที่ระบุด้านล่างจะเป็นตัวเร่งการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในไอวีแอลเพื่อก่อให้เกิดการเติบโตและความข็งแกร่งในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ 3 ธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจ PET, ธุรกิจต้นน้ำ (Feedstock) และธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งจะยังผลให้ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจมีการเชื่อมโยงและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นและลูกค้าของเรา

  • บริษัท BP ในรัฐ Alabama ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อการบริหารจัดการวัตถุดิบให้มีใช้อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้และสร้างการเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA)
  • บริษัท MicroPet ประเทศอินเดียเพื่อเข้าสู่ธุรกิจหลักในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีจำนวนประชากรมากที่สุด
  • บริษัท CEPSA ประเทศสเปน เพื่อการบริหารจัดการวัตถุดิบให้มีใช้อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้ ขยายธุรกิจ PET ให้ครอบคลุมทวีปยุโรปมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจ IPAเป็นครั้งแรกและผลักดันให้เกิดความแข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA)
  • โรงงานเอทิลีนแครกเกอร์ ในรัฐ Louisianaประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการบริหารจัดการวัตถุดิบให้มีใช้อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้ และใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน
  • บริษัท CEPSA ประเทศแคนาดา เพื่อการบริหารจัดการวัตถุดิบให้มีใช้อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้ในทวีปอเมริกาเหนือ
  • บริษัท บางกอกโพลีเอสเตอร์ ประเทศไทย เพื่อให้เกิดการควบรวมธุรกิจ PETและเอื้อให้การจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการบริโภค PTA ภายใน
  • บริษัท Performance Fiberในประเทศจีน ถือครองแบรนด์เส้นใยโพลีเอสเตอร์สำหรับยางในรถยนต์ที่มีชื่อเสียงยาวนานในตลาดที่มีตัวเลขการเติบโตของรถยนต์สูงสุด และเอื้อให้การจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการบริโภค PETภายใน
  • บริษัท Polyplex PETประเทศตุรกี ส่งผลให้เกิดการบูรณาการในธุรกิจ PETซึ่งเป็นธุรกิจหลักในตลาดเกิดใหม่และขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทวีปยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกามากยิ่งขึ้น


“ปี 2558 นับเป็นปีที่เป็นโอกาสพิเศษในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น การเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นทั้ง 8 แห่งจะช่วยสร้างให้ไอวีแอลเป็นผู้นำระดับโลกและช่วยให้เกิดความได้เปรียบด้านต้นทุน ทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งและครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของทุกธุรกิจที่สำคัญของเรา” นายโลเฮียประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าว “สำหรับไอวีแอลการเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นนับเป็นการขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างมั่นคง ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เรามีเป้าหมายระยะสั้นในการสร้างมูลค่าอย่างมีนัยยะให้กับธุรกิจผ่านการลดต้นทุนการดำเนินงาน ในระยะกลาง เราคาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่าแรงผลักดันจากภายนอก และในระยะยาว เรายังคงมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นและลูกค้า รวมทั้งสร้างโอกาสสำหรับพนักงานของเรา เนื่องจากเราจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านต้นทุนในทุกธุรกิจหลักของเรา และมีการดำเนินงานในตลาดที่น่าสนใจ รวมถึงอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งปัจจัยประชากรในท้องถิ่นและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นตัวขับเคลื่อนปริมาณความต้องการ”